จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พี่น้องประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอยู่ในสังคม เช่น การที่ต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือแม้แต่การต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายของเราไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง รวมทั้งการที่ได้รับแสง UV ในปริมาณความเข้มข้นที่ไม่เพียงพอต่อการสร้างวิตามินดี จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้ร่างกายขาดวิตามินดีได้
วิตามินดี (Vitamin D) หรือชื่อในภาษาอังกฤษคือ Calciferol, Antirachitic Factor บางคนจะเรียกว่า วิตามินแดด วิตามินดีเป็นวิตามินที่สามารถละลายได้ในไขมันเท่านั้น ไม่สามารถถูกผลิตขึ้นมาเองจากในร่างกายได้ แต่จะได้รับจากการทานอาหารเข้าไป หรือสามารถได้รับจากการโดนแสงแดด
หน้าที่สำคัญของวิตามินดี จะช่วยดูดซึมแคลเซียมไปใช้ในกระบวนการสร้างกระดูก รักษาความสมดุลของระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด มีส่วนสำคัญในการท้างานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ ปอด สมอง หัวใจ และระบบภูมิคุ้มกัน
ประโยชน์ของวิตามินดี
- ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากลำไส้ ส่งผลให้การสร้างกระดูกและฟันเป็นไปในทางที่ดี ยังช่วยปกป้องกระดูกจากการเป็นโรคกระดูกผุ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกที่เกิดจากโรคกระดูกผุ
- ช่วยรักษาระดับความดันเลือด
- ช่วยสังเคราะห์ Mucopolysaccharide ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นในการสร้างคอลลาเจนให้กับร่างกาย
- ช่วยควบคุมปริมาณของแคลเซียม และฟอสฟอรัสในกระแสเลือด
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า
- ช่วยสังเคราะห์น้ำย่อยใน Mucous Membrane
- ช่วยในการดูดซึมกลับของกรดอะมิโนที่ไต
- ช่วยลดอาการปวดหัวจากโรคไมเกรน
สามารถพบวิตามินดีได้ในอาหารที่เราทานเข้าไปในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว หรือได้มาจากการได้รับแสงแดดในตอนเช้า รายละเอียดดังนี้
- วิตามินดีที่ได้จากการบริโภคอาหารแหล่งของอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ได้แก่ตับ ไข่แดง เนย นม ปลาที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง (โอเมก้า 3 และ 6) เช่น ปลาแซลมอล ปลาทูน่า ปลาซาดีน ปลาสวาย ปลาดุก ปลาสลิด และน้ำมันตับปลา
- วิตามินดีที่ได้ จากการรับแสง UV นอกจากอาหารแล้ว การได้รับแสง UV ในตอนเช้า ยังสามารถช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดี
- วิตามินดีที่ได้จากการทานอาหารเสริม ปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายเจ้าได้วางขายผลิตภัณฑ์ วิตามินดี ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดีในร่างกายได้ แต่ก็มีราคาที่สูงด้วยเช่นกัน
หากร่างกายได้รับปริมาณของวิตามินดีที่ไม่เพียงพอ
- ภาวะกระดูกอ่อนในเด็ก (Ricket) – ขาโก่ง (Bow Legs) – รอยต่อกะโหลกที่กระหม่อมปิดช้า – เกิดความผิดปกติขึ้นที่กระดูกซี่โครง – อารมณ์แปรปรวน – การเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อเป็นไปได้ไม่ดี ไม่แข็งแรง – จะมีอาการฟันผุเร็วกว่าปกติ
- ภาวะกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่ (Osteomalacia) – รู้สึกเจ็บและปวดตามข้อ ตามกระดูกบริเวณทั่วร่างกาย
- อาการชัก (Tetany)
- ฟันผุ (Dental Caries)
ผลกระทบหากได้รับวิตามินดีมากเกินไป
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน
- ปัสสาวะมากกว่าปกติ ทั้งกลางวันและกลางคืน
- หิวน้ำตลอดเวลา
- น้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากมีการสลายของแคลเซียมออกมาจากกระดูก
- บางรายที่อาการหนัก สามารถเสียชีวิตได้เลย
วิตามินดีที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย เป็นสิ่งที่ร่างกายผลิตออกไม่ได้เอง ต้องได้มาจากการบริโภคอาหารเท่านั้น แต่วิตามินดีจะพิเศษกว่าวิตามินอื่นๆ เนื่องจากสามารถได้มาจากการรับแสง UV ในตอนเช้าด้วย
ทั้งนี้ วิตามินดี ก็เหมือนกับวิตามินชนิดอื่นๆ ทั่วไป หากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับร่างกาย แต่หากได้รับในปริมาณที่มากหรือน้อยจนเกินไป ก็ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรรับปริมาณวิตามินดี เข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เหมาะสมจึงจะดีที่สุด
ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารภัย กองทัพภาคที่ 3 มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงขอเชิญชวนให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วน และได้ปฏิบัติตามคำแนะนำขั้นต้น ซึ่งหากกำลังพล, ครอบครัว และพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัย สามารถปรึกษาแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน