สวนทุเรียนหมอนทอง ใหญ่ที่สุดในภาคอิสาน อยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม มาชื่นชมดอกกระเจียว ต้องไม่พลาด ชิมและช็อบ ทุเรียนโอโซน หมอนทอง สวน “นราทอง”สวนทุเรียนหมอนทองกว่า 300 ไร่ ริมทางไปอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม หรือทุ่งดอกกระเจียว มีสัญลักษณ์คือรูปปั้นทุเรียนผลใหญ่ สีเขียวเหลืองสดใสน่ารับประทานตั้งอยู่โดดเด่นสะดุดตา มีหน้าร้านขายทุเรียนให้เลือกซื้อหาไปรับประทาน หรือเป็นของฝากคนที่บ้าน มีคนคอยบริการลูกค้าด้วยอัธยาศัยไมตรีหลายคน
คุณลุงธงชัย นราทอง วัย 65 ปี เจ้าของสวนทุเรียนตัวจริงเสียงจริงพาชมสวน และเล่าให้ฟังว่าเป็นคนนครปฐม ก่อนจะมาทำสวนทุเรียนเป็นพ่อค้าขายแตงโม มีร้านขายแตงโมส่งที่ตลาดสี่มุมเมือง แต่ขณะเดียวกันก็หาเช่าที่ดินปลูกแตงโมขายไปเรื่อยๆหลายจังหวัดเช่นที่อำเภอสระโบสถ์ จ.ลพบุรี มาพบและพอใจที่ดิน ณ. ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิตจ.ชัยภูมิ จึงซื้อไว้ประมาณ 300 ไร่ และเริ่มทำสวนส้มสายน้ำผึ้งได้ระยะหนึ่งหลังประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันหลายปี
จึงหันมาปลูกทุเรียน เนื่องจากเห็นคนพื้นถิ่นที่นี่ปลูกทุเรียนกันหลายเจ้า ลงมือปลูกทุเรียนมาได้ประมาณ 9 ถึง10 ปี ครั้งแรกปลูก 200 ไร่ มีทุเรียนประมาณ 2000 ต้น เป็นพันธุ์หมอนทองทั้งหมด มีก้านยาวอยู่ 2-3ต้นไว้รับประทาน มีเงาะ มังคุดบ้างนิดหน่อยปัจจุบันมีประมาณ 5000 ต้น ทุเรียนเริ่มเก็บผลได้เมื่อ 4- 5 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเก็บผลผลิตได้ปีละ 100 ตัน ส่วนตลาดก็ส่งจีนเป็นส่วนใหญ่ มีตลาดในเมืองไทยบ้างนิดหน่อย คือตลาดสี่มุมเมือง ลพบุรี โคราช และพ่อค้าจรบ้าง
อุปสรรคในการทำทุเรียนมีหลายอย่างด้วยกัน อันแรกคือโรคเชื้อราที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยการกำจัดด้วยสารเคมี ส่วนโคนต้นที่เห็นขาวๆนั้นใช้สีพลาสติกผสมยาเชื้อรา ทาไว้กันได้หลายปี อุปสรรคที่สองคือ ปุ๋ย ทุเรียนสวนนี้ใช้ปุ๋ยเคมี แต่เว้นระยะในการเก็บผลผลิตเพื่อความปลอดภัยของลูกค้า และการส่งขายนอกประเทศ สวนนราทองได้รับใบรับรองคุณภาพ จีเอพี จากกระทรวงเกษตรเป็นหลักประกัน
ปัจจุบันสารเคมีและปุ๋ยมีราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัว คือจากกระสอบละ 900 เป็น 1800 ทำให้ต้นทุนการทำทุเรียนสูงขึ้น ราคาขายทุเรียนก็สูงตามไปด้วย อุปสรรคที่สามคือ การส่งออกปัจจุบันยากขึ้นเพราะขาดตู้คอนเทนเนอร์ใส่ผลผลิต จึงไม่สามารถส่งออกได้ตามเวลา ทำให้ผลผลิตเสียหายสุกก่อนเวลาจึงต้องหาตลาดภายใน ซึ่งต้องทำเอง หาเองทั้งสิ้น แต่ก็ทำให้ทุเรียนถูกกดราคาลง เป็นอุปสรรคที่สำคัญที่แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องให้รัฐบาลช่วยเท่านั้น ประกอบกับมี สถาการณ์วิกฤติเกิดขึ้นในห้วง 3 ปีที่ผ่านมาทำให้การส่งออกลำบากมากขึ้น ปีนี้ได้หันมาหาตลาดในประเทศซึ่งก็ถูกกดราคาให้ต่ำลงไปด้วย
ส่วนปัญหาด้านแรงงานนั้นถือว่าน้อย แต่คนสวนทุเรียนต้องใช้คนที่มีความชำนาญเฉพาะเป็นพิเศษ คาแรงก็สูงตามไปด้วย เช่นคนตัดทุเรียนมีค่าแรงวันละ1000-1200 บาท คนรับทุเรียนใต้ต้น ค่าแรงวันละ 800 บาท คนเก็บ ชักลาก และจดจำนวนวันละ 400 บาท วันๆใช้มากพอสมควร ตั้งแต่ทำสวนทุเรียนมามีหน่วยงานราชการเข้ามาให้คำแนะนำช่วยเหลือน้อยมาก ก็ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองมาตลอด
ในปีนี้สวนนราทองเปิดให้นักท่องเที่ยวที่มาชื่นชมดอกกระเจียวได้เข้ามาชมสวน แวะชิม และซื้อทุเรียนกลับไปฝากคนที่บ้าน ในราคาจับต้องได้ สำหรับรสชาติของทุเรียนโอโซนสวนนราทอง จะมีรสชาติที่ไม่หวานแหลมจนเกินไป กลิ่นไม่ฉุนกำลังดี เนื้อละเอียดเหมือนครีม ละมุนลิ้น ไม่มีเส้นใย จึงเป็นที่ติดใจกินแล้วต้องสั่งซื้อเป็นรอบที่ 2 ซึ่งร้านจะจัดส่งให้ทางพัสดุด่วน โดยกำหนดวันที่จะรับประทานได้ให้ตรงกับความต้องการ ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ คุณณัฐ สวนทุเรียน นราทอง 062 3989616 หรือแอดไลน์ได้ตามหมายเลขดังกล่าว ทุกวัน จนกว่าทุเรียนจะหมดสวน
และในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 นี้ จะมีกิจกรรมพิเศษคือ เกษตรอำเภอเทพสถิตเตรียมจัดงานวันทุเรียนโอโซนเทพสถิต ที่สวนนราทองเป็นการเปิดตัวทุเรียนโอโซนอำเภอเทพสถิตอย่างเป็นทางการ เฉพาะทุเรียนที่สวนนราทองจะขายทุเรียนให้ผู้มาร่วมงาน โดยจะนำรายได้สมทบทุนสาธารณประโยชน์ และโรงเรียนต่อไป จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้
“ มาเที่ยวมาชื่นมาชมดอกกระเจียว และเที่ยวชิมทุเรียน สวน”นราทอง” อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ”
งามนิตย์ I ชัยภูมิ
More Stories
ลพบุรี I ผลักดัน “กระท้อน GI พร้อมผลิตการเกษตรอื่นๆ มากมาย จากสวนสู่ห้าง ”
นนทบุรี I นนทบุรี เปิดกิจกรรม ชม ชิม ผลผลิตอินทผลัม
สตูล I สหกรณ์จังหวัด จัดโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน