นาย ชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ฝนในพื้นที่ตอนบนได้เริ่มลดลง เข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เพราะปริมาณน้ำจาก จ.พะเยา จ.แพร่ ไหลเข้า จ.สุโขทัย ก็ได้ลดลงไปด้วย ที่สถานี Y14 สถานีเฝ้าระวังที่ จ.สุโขทัย ที่ผ่านมาปริมาณน้ำไหลผ่านถึงจุดวิกฤตไป 3 ครั้ง คือครั้งแรกเมื่อ 27 ส.ค. ครั้งที่ 2 เมื่อ 27 ก.ย. และครั้งที่ผ่านมาคือ เมื่อ 4 ต.ค. มีจำนวนมากถึง 1,168 ล้านลูกบากศ์เมตร ต่อวินาที
จะเห็นได้ว่า ครั้งที่ 2 และครั้งที่ผ่านมา เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ส่งผลทำให้การระบายน้ำจากทุ่งบางระกำ และ จากแม่น้ำยม ลงสู่ แม่น้ำน่าน ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะระบาย ทำให้น้ำเข้าทุ่งบางระกำโมเดลมากขึ้น จนเกิน 100% ทะลุไปถึง 143 % ซึ่งยังมีน้ำหลากจาก แม่น้ำยม และจากธรรมชาติ ในขณะที่ระดับน้ำหากวัดจากขอบบนสุดของสันสปริงเวย์ ในประตูระบายน้ำบางแก้ว น้ำสูงมากไป 1 เมตรกว่าแล้ว ทางชลประทานได้พยายามคอลโทรลน้ำในทุ่งบางระกำให้ได้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมากนัก แต่ตอนนี้ระดับเกิน 41 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงส่งผลกระทบต่อเส้นทางการสัญจรของประชาชนในพื้นที่
ส่วนพื้นที่การเกษตรนั้นไม่ได้รับผลกระทบ เพราะในโครงการได้เก็บเกี่ยวผลผลิตหมดไปก่อนหน้านี้แล้ว และวันนี้ยังได้ร้องขอให้เขื่อนสิริกิตต์ จ.อุตรดิตถ์ ลดระบายน้ำให้เหลือวันละ 5 ล้าน ลูกบากศ์เมตร โดยจะระบายแบบนี้ไปจนถึงวันที่ 14 ต.ค.67 เมื่อถึงการระบายปกติก็จะมีการปรับการระบายอีกครั้ง แต่วันนี้ก็ทำให้ แม่น้ำน่าน ลดลงจาก 7.66 เมตร เหลือประมาณ 5 เมตรเศษ การระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำ DR2.8 และ DR15.8 ถึงวันที่ 14 ต.ค.67 จะเต็มศักยถาพมากขึ้น น้ำในทุ่งบางระกำก็จะลดลง อัตราการเพิ่มของน้ำในทุ่งจะลดลงมากกว่านี้ ประกอบกับน้ำในแม่น้ำยมช่วงผ่าน จ.สุโขทัยก็ทรงตัวแล้ว ไม่มีน้ำใหม่มาเติม
เพราะฉะนั้นในสัปดาห์นี้ น้ำในทุ่งบางระกำจะทรงตัว ส่วนสัปดาห์หน้าจะลดลงไปเรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ตามแผนการระบายน้ำจากทุ่งบางระกำโมเดลออกนั้น จะมีการระบายขั้นสูงสุดจริง ๆ จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย.67 ต้นเดือน พ.ย.67 น้ำในทุ่งก็จะลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ คือ ไม่เกิน 400 ล้านลูกบากศ์เมตร และช่วงปลายฤดูฝน เข้าสู่ฤดูแล้งก็ ยังจะมีแผนหน่วงน้ำไว้ส่วนหนึ่งก่อนด้วย